แชร์

"ท่อน้ำตาตันในเด็กเล็ก" เมื่อลูกน้อยมีน้ำตาเอ่ออยู่ตลอดเวลา

อัพเดทล่าสุด: 21 เม.ย. 2025
61 ผู้เข้าชม

บทนำ

 
          ภาวะท่อน้ำตาตันในเด็กเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยเฉพาะในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มักสังเกตเห็นว่าตาของลูกมีน้ำตาคลอหรือไหลตลอดเวลา แม้ไม่ได้ร้องไห้ ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรระวังที่สำคัญกันครับ
 
 
 
 

สาเหตุของท่อน้ำตาตันในเด็กเกิดจากอะไร?

 
 
          ปกติแล้วน้ำตาที่ผลิตจากต่อมน้ำตาจะไหลผ่านท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตาแล้วลงไปสู่โพรงจมูก แต่ในทารกแรกเกิดจะมีเยื่อบางๆ ที่ปิดกั้นบริเวณรูเปิดของท่อน้ำตาในโพรงจมูก ทำให้น้ำตาไม่สามารถไหลลงสู่โพรงจมูกได้ จึงทำให้เกิดอาการน้ำตาเอ่อไหลออกมา
 
 
      โดยทั่วไปแล้วเนื้อเยื่อบางๆ นี้จะค่อยๆ สลายไปตามอายุของเด็กเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ในบางรายเยื่อบางๆ นี้อาจสลายช้ากว่าปกติ หรือไม่สลายเลย ส่งผลให้เกิดอาการน้ำตาไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
 

วิธีรักษาท่อน้ำตาตันในเด็กเล็ก

 
          อาการท่อน้ำตาตันในเด็กส่วนใหญ่สามารถหายได้เองก่อนที่เด็กจะอายุ 1 ปี ในหลายๆ รายสามารถทำการสังเกตอาการไปก่อนได้ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นเมื่ออายุ 1 ปีหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยมาก เช่น มีอาการตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องพิจารณาการทำ "การแยงท่อน้ำตา (probing)" ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เครื่องมือพิเศษในการเปิดท่อน้ำตาที่ตันให้สามารถระบายน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกได้ ส่วนน้อยที่เด็กที่มีอาการมากอาจต้องทำการแยงท่อน้ำตามากกว่าหนึ่งครั้ง หรือต้องได้รับการผ่าตัดท่อน้ำตาครับ
 
 
       นอกจากการรักษาโดยการแยงท่อน้ำตาแล้ว คุณแม่ยังสามารถลองทำการ นวดถุงน้ำตา (Crigler massage) โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้กดเบาๆ บริเวณสันจมูกโดยเริ่มจากบริเวณข้างหัวตาและรูดนิ้วลงไปตามสันจมูก การนวดนี้เชื่อกันว่าอาจช่วยให้ท่อน้ำตาเปิดตัวเร็วขึ้นได้ โดยการนวดควรทำอย่างเบาๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
 
 
        นอกจากนี้ ถ้าหากเด็กมีอาการตาแดง หรือมีขี้ตาสีเหลืองมาก ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหยอดตาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อในตา
 
 
 
ข้อควรระวัง น้ำตาเอ่อในเด็กเล็กอาจไม่ได้เกิดจากท่อน้ำตาตันเสมอไป
 
แม้ว่า ท่อน้ำตาตันในทารก จะเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของน้ำตาไหลในเด็ก แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่ต้องระวัง เช่น
  • โรคต้อหินในเด็ก (childhood glaucoma)
  • มีสิ่งแปลกปลอมในตา
  • ม่านตาอักเสบ
  • การติดเชื้อในตา
 
หากลูกน้อยมีอาการร่วมดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
  • ตาแดงเรื้อรัง
  • ขี้ตามากผิดปกติ
  • มองเห็นผิดปกติ หรือหลบแสง

 

 

 

 

ถ้าเห็นว่าบทความมีประโยชน์ สามารถกดปุ่มแชร์ไปยัง social media ต่างๆ กันได้ครับ  


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy